“THINKK Studio คิดเพื่อชีวิต “RE CO”

2021-05-21

สร้างสรรค์พื้นที่ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

“THINKK Studio คิดเพื่อชีวิต “RE CO” เมื่อโลกสู่ยุค Circular Economy”

“ทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างคุณค่าให้กับวัสดุเหลือใช้” หนึ่งในแนวทางการทำงานออกแบบของ THINKK Studio ท่ามกลางโลกที่กำลังขับเคลื่อนสู่ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเมื่อสองผู้ก่อตั้ง เดย์-เดชา อรรจนานันท์ และ พลอย-พลอยพรรณ ธีรชัย ถูกตั้งคำถามถึง Re-Desire for Life ของพวกเขา ผ่านมุมมองการใช้ชีวิตและการทำงานนับจากนี้ พวกเขาตอบคำถามผ่านกระบวนการคิดและลงมือทำ ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของการออกแบบ เช่นเดียวกับการตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และการเห็นคุณค่าในวัสดุที่สามารถสร้างคุณค่าใหม่ได้อยู่เสมอ บทสัมภาษณ์นี้จะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้มุมมองการทำงานออกแบบของพวกเขาจาก ECO Design สู่ Upclying ที่สอดคล้องกับวิถี RE CO เทรนด์ใหม่ปี 2021 ของ COTTO

THINKK Studio กับจุดเริ่มต้นการทำงานกับวัสดุ

“ปกติการทำงาน เราจะศึกษาไปถึงกระบวนการผลิต ซึ่งรวมถึงวัสดุด้วย เพื่อนำวัสดุมาใช้ให้เหมาะสมกับฟังก์ชั่น เมื่อเรามีโอกาสได้ออกแบบงานหลากหลายขึ้น ก็ทำให้เราเริ่มสนุกกับการ Explore วัสดุใหม่ๆ หรือวัสดุรีไซเคิล ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อเราไปในแนวทางนี้ ก็ทำให้เรายิ่ง Explore งานที่หลากหลายมากขึ้นด้วย” ซึ่งคุณพลอย และคุณเดชาเล่าว่าโปรเจกท์แรกของ THINKK Studio ที่เริ่มสนใจทำงานเกี่ยวกับวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ City Materials ผลงานจัดแสดงในนิทรรศการในงาน Bangkok Design Week ปี 2019 “เราพยายามหาตัวแทนของวัสดุทางเลือกที่มาจากอุตสาหกรรม และจากกิจกรรมการใช้งานที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ จนได้ตัวแทนของวัสดุมาทั้งหมด 6 วัสดุ เช่น กากกาแฟ ถุงพลาสติก ต้นไม้ของกทม. ที่ถูกตัด ก้านธูป กระดาษลอตเตอรี่ เป็นต้น แล้วนำมาทดลอง และหาความเป็นไปได้ โดยจุดมุ่งหมายคือเราอยากให้ผู้บริโภครู้ว่า เศษวัสดุเหล่านี้จริงๆ แล้วปลายทางของมันมีคุณค่า และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้”

อะไรที่ทำให้สนใจค้นคว้าและทดลองด้านวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ด้วยอาชีพนักออกแบบ ที่เราต้องออกแบบ และผลิตสิ่งของใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้เรารู้สึกว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ใช้สอยทรัพยากรอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคงจะดีถ้าเราสามารถเข้าไปร่วมในกระบวนการคิด ตั้งแต่กระบวนการเกิดของวัสดุขึ้นมาใหม่ โดยที่เราไม่ไปทำลายวัสดุธรรมชาติ หรือใช้เศษวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากขึ้น” พวกเขาเล่าว่ากระบวนการทำงานตอนนี้คือนอกจากเริ่มต้นลงมือค้นคว้าทดลองด้านวัสดุกันเองในสตูดิโอแล้ว พวกเขายังมองหาความร่วมมือจากนักวิจัยด้านวัสดุ (Material Scientist) ที่มีความรู้เชิงลึก มาผสานองค์ความรู้เข้ากับทักษะด้านการออกแบบของพวกเขา เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณภาพ ใช้งานได้ดี มีความทนทานมากขึ้น ที่สำคัญสามารถเข้าไปสู่กระบวนการผลิตที่เป็น Mass Production ได้”

“เราอยากพัฒนาวัสดุใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าไปสู่ระบบอุตสาหกรรมได้จริงๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม หนึ่งในนั้นคือ Building Material เนื่องจากงานสถาปัตยกรรมมากมายทั้งในบ้านเราหรือทั่วโลก เกิดการทุบทิ้งและการก่อสร้างใหม่ตลอดเวลา ทำให้เกิดเศษเหลือทิ้งจากการก่อสร้างเยอะมาก เช่นเดียวกับเศษเหลือจากการเกษตร เศษเหลือจากอุตสาหกรรม และเศษพลาสติก เป็นต้น ซึ่งวัสดุก่อสร้างสามารถนำมาหลอมใหม่แล้วทำให้แข็งแรงขึ้นตามคุณสมบัติ จากนั้นนำไปเข้าสู่กระบวนการออกแบบและผลิตเป็นสิ่งใหม่ได้ เช่น อิฐ อาจจะนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ หรือเป็นวัสดุตกแต่งผนังได้ เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษากันอยู่”

แนวทางการเลือกใช้วัสดุในการออกแบบงานของ THINKK Studio

“แต่ละวัสดุมีคุณสมบัติ และเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้นวิธีการที่เราจะนำแต่ละวัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงต้องเริ่มศึกษาถึงคุณสมบัติของวัสดุ เช่น ความแข็งแรงทนทาน การซึมน้ำ รวมถึงความรู้สึกที่เรามีต่อวัสดุนั้นๆ เพื่อให้วัสดุเหมาะสมกับพื้นที่การใช้งาน และฟังก์ชั่นของ Object ต่างๆ”

“ตอนนี้เทรนด์ความงามไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าแบบไหนสวย ไม่สวย เพราะอย่างในธรรมชาติก็มีความงามหลากหลาย ดังนั้นตอนนี้วัสดุที่เราสนใจและคิดว่าเป็นเทรนด์เหมือนกัน จึงเป็นวัสดุที่ให้ความเป็นธรรมชาติ เช่นวัสดุทดแทนที่ให้ความรู้สึกเหมือนหินจริง หรือวัสดุที่เกิดขึ้นจากการนำหินหลายๆ แบบมาสร้างลวดลายเฉพาะขึ้นใหม่ ทำให้ได้วัสดุที่มีคาแรคเตอร์มาใช้ในการออกแบบงานให้มีความ Unique มากขึ้น และทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าเป็นผลงานออกแบบขึ้นสำหรับเขาจริงๆ ”

ธรรมชาติ และการออกแบบ

“โดยธรรมชาติของมนุษย์ต้องการอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติอยู่แล้ว แต่กลายเป็นว่ายิ่งเราพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่อาศัยมากขึ้นเท่าไร เรากลับรู้สึกห่างกับธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งสำหรับเราวิธีการนำธรรมชาติเข้ามาทำได้หลายวิธี ตั้งแต่วิธีการง่ายๆ อย่างการดึงแสงธรรมชาติเข้ามา การนำต้นไม้เข้ามาอยู่ในบ้าน จนถึงการเลือกใช้วัสดุในการออกแบบตกแต่งภายในที่เชื่อมโยงกับความเป็นธรรมชาติ ด้วยพื้นผิว สี สัมผัส ลวดลายต่างๆ ที่ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ และได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติได้อยู่ ซึ่งถ้าให้เลือกระหว่างวัสดุจากธรรมชาติจริงๆ กับวัสดุที่ให้ความรู้สึกเหมือนธรรมชาติ เราจะเลือกวัสดุทดแทนธรรมชาติที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ยังให้ความสวยงาม และความรู้สึกไม่ต่างกัน สิ่งสำคัญคือเราจะให้ความสำคัญกับพื้นผิวที่เชื่อมโยงกับความรู้สึก ทั้งยามสัมผัส และเวลาที่แสงในช่วงเวลาต่างๆ ตกกระทบ ซึ่งจะส่งผลต่อการออกแบบตกแต่งพื้นที่อย่างมาก”

Black is the new green

THINKK Studio เคยร่วมทำงานกับทาง COTTO ในโครงการ COTTO Another Perspective 5 Curated by Naoto Fukasawa ที่ผลงานออกแบบ GROWTH ของพวกเขาได้รับคัดเลือกให้ไปจัดแสดงในงาน Milan Design Week 2017 “คอนเซ็ปต์ของงานคือ Good Morning ว่าตื่นเช้ามาเราได้รับความรู้สึกอะไร นำมาสู่ชุดกระจกติดผนังทำจากงานกระเบื้อง ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากก้อนหินธรรมชาติ ทั้งรูปทรง และสีของก้อนหินในโทนสีดำ ประกอบไปด้วยกระจก ที่วางของ และแจกันแขวนผนัง เป็นคอลเลคชั่นที่ปลุกความสดชื่น เหมือนยามเช้าที่เราได้ทักทายตัวเอง พร้อมรับรู้ถึงความรู้สึกของธรรมชาติ”

“สีกระเบื้องโทนเทาเข้มออกดำ มีเสน่ห์คือเป็นโทนสีที่ตัดกับสีของต้นไม้ ทำให้ต้นไม้นี่มันโดดเด่นออกมา สะท้อนให้เห็นว่าความงามของธรรมชาตินั้นมีหลายรูปแบบ ที่สนใจนำวัสดุที่ถ่ายทอดความเป็นธรรมชาติอย่างหิน เพราะเราชอบคาแรคเตอร์ของหิน ที่ดูแข็งแรง และเมื่อแสงกระทบกับพื้นผิวทำให้เราจินตนาการได้ถึงหินในธรรมชาติได้”

ทิศทางการออกแบบสำหรับโลกในยุคปัจจุบัน

“เรามองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะตระหนัก โดยเฉพาะในวิชาชีพนักออกแบบอย่างเรา ยิ่งต้องคิดว่าจะออกแบบสิ่งใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรืองานออกแบบอินทีเรียอย่างไรให้ทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ทำให้เรามองวัสดุทดแทนธรรมชาติ ที่ทำให้ผู้ใช้งานได้มีส่วนร่วมในการดูแลโลกให้ได้มากที่สุด เกิดความภาคภูมิใจ และความรู้สึกดีในการใช้งาน เหมือนเป็นการสร้าง Mindset อย่างหนึ่งให้ผู้บริโภคด้วย” คุณพลอยกล่าว

"สำหรับผมมองว่าปัจจุบันมันมีเทรนด์ย่อยๆ ที่มีความเป็นตัวตนของแต่ละคนค่อนข้างสูง ซึ่งผมมองว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ทำให้ในการออกแบบเราสามารถผสมผสานหลายๆ ศาสตร์ หลายๆ แนวทาง เข้าด้วยกัน แต่ทำให้มันลงตัวกับบุคคลที่อยู่อาศัยตรงนั้นจริงๆ ได้ ดังนั้นเราเลยพยายามคิดว่าของแต่ละชิ้น หรือแต่ละวัสดุที่เลือกใช้นั้น สามารถบ่งบอกถึงตัวตน บุคลิก แนวคิด และความชอบของเขาในการใช้ชีวิตได้อย่างไรบ้าง” คุณเดชาเสริมทิ้งท้าย